การใช้คอมพิวเตอร์ในห้องทดลอง



การใช้คอมพิวเตอร์ในห้องทดลองด้านการแพทย์ 
          ปัจจุบันนี้แพทย์ใช้การทดลองประกอบการวินิจฉัยมากขึ้น เช่น ให้ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และอุจจาระเป็นต้น โรงพยาบาลและห้องทดลองต่างๆ จึงได้เพิ่มจำนวนพนักงาน จ้างนิสิตนักศึกษามาทำงานในระหว่างการศึกษาปรับปรุงวิธีการทดลองให้ง่ายขึ้น จัดหาเครื่องมือที่สามารถช่วยวัดผลให้รวดเร็วขึ้น  จนในที่สุดสามารถทำการทดลองให้เสร็จสิ้นได้อย่างรวดเร็ว  แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่บ้างในแง่ที่ว่าแม้จะทำการทดลองได้ผลในเวลารวดเร็ว แต่แพทย์จะต้องรออยู่เป็นเวลานานจึงจะได้รับผล ฉะนั้น เมื่อได้รับผลจึงอาจใช้คอมพิวเตอร์ช่วยตามจุดต่างๆ เพื่อให้ผลถึงมือแพทย์รวดเร็วขึ้น
          เริ่มจากจุดที่ห้องทดลองได้รับตัวอย่าง (specimens)จากคนไข้พร้อมกับใบสั่งจากแพทย์ว่าให้ทดสอบอะไรบ้างพนักงานห้องทดลองจะต้องจัดเตรียมลำดับการทดสอบว่าจะทำอะไรก่อนหลังอย่างไร ถ้าห้องทดลองมีงานมากมายคอมพิวเตอร์ก็อาจช่วยจัดกำหนดตารางเวลาการทดลองให้และช่วยส่งผลการทดลองให้คนไข้ได้ถูกต้อง
          สถานเอกซเรย์บางแห่งในสหรัฐอเมริกา ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในงานเอกซเรย์ ซึ่งสามารถตรวจดูว่าปอดนั้นปกติหรือไม่ ถ้าปกติก็แจ้งผลให้ได้ทันที โดยไม่ต้องรบกวนแพทย์ ถ้าไม่ปกติจึงจะส่งให้แพทย์วินิจฉัยต่อไป
          นอกจากนี้ ยังมีเครื่องคอมพิวเตอร์โทโมกราฟี (tomography) ใช้สำหรับเอกซเรย์ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ทุกส่วน
ห้องทดลองแต่ละแห่งอาจจะต้องทำการทดลอง ๕๐ -๗๐ อย่าง หรือมากกว่านั้น ในการทดลองแต่ละชนิดแต่ละครั้ง ก็อาจจะใช้วิธีชั่งตวงวัดแบบต่างๆ ใช้วิธีผสมสารเคมีให้เกิดสีต่างๆ ใช้วิธีความร้อนวัดความเร็วในการทำปฏิกิริยา หรือใช้เครื่องวัดเป็นกระแสไฟฟ้าว่าคงที่ หรือเพิ่มขึ้น หรือลดลง ห้องทดลองใหญ่ๆ อาจมีเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ (auto analyzer) หลายเครื่อง แต่ละเครื่องทำการวิเคราะห์ได้ประมาณ ๖๐ ตัวอย่างต่อชั่วโมง ในวันหนึ่งๆ พนักงานคนหนึ่งอาจต้องอ่านตารางหรือกราฟถึงพันครั้ง เพื่อให้ได้ตัวเลขซึ่งจะต้องนำไปคำนวณปรับอีกนับพันครั้ง  เพื่อควบคุมคุณภาพของการทดลอง (quality control) ทั้งนี้เพราะเครื่องมักจะเกิดการคลาดเคลื่อน(drift) และการที่พนักงานแต่ละคนต้องอ่านตารางหรือกราฟและคำนวณเป็นพันๆ ครั้งเช่นนี้ ทำให้เกิดการผิดพลาดได้ง่ายเพราะคนเรานั้นเมื่อต้องทำงานอะไรซ้ำๆ มากๆ ก็เกิดอาการเบื่อหน่าย เมื่อยล้า ฉะนั้นในต่างประเทศจึงมีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ต่อเข้ากับเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ และคำนวณหาผลการทดลองได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
          จากผลการทดลองที่คอมพิวเตอร์ได้รับนั้น คอมพิวเตอร์สามารถพิมพ์รายงานผล ส่งให้แพทย์ผู้สั่งการทดลองบันทึกประวัติคนไข้และจัดทำสถิติต่างๆ สำหรับใช้ในการบริหารต่อไป

 

การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยตรวจวินิจฉัยรักษาโรค 

          ในสหรัฐอเมริกาได้มีการทดลองให้คอมพิวเตอร์ช่วยตรวจคนไข้ในเมืองเล็กๆ ที่ไม่มีแพทย์  ในห้องตรวจคนไข้ในเมืองเล็กๆ โดยมีพยาบาล มีโทรทัศน์ต่อถึงโรงพยาบาลในเมืองใหญ่  แพทย์ในเมืองใหญ่ก็เห็นคนไข้บนจอโทรทัศน์  คนไข้ก็อาจจะเห็นแพทย์ในจอโทรทัศน์เช่นกันแพทย์อาจจะบอกให้คนไข้ถอดเสื้อผ้าถ้าจำเป็น ให้พยาบาลช่วยวัดความดันโลหิต วัดการเต้นของหัวใจ กดท้องว่าเจ็บหรือไม่ มีอะไรเป็นก้อนแข็งหรือไม่ ตรวจหู คอ  จมูก ฯลฯ  ต่อจากนั้นแพทย์หรือพยาบาลก็อาจจะส่งข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ว่าจากอาการต่างๆ นั้น มีทางเป็นโรคอะไรได้บ้าง ปกติแล้วจากอาการชุดใดชุดหนึ่งแพทย์อาจจะนึกได้ว่าเป็นอาการของโรคต่างๆ ๕-๖  อย่าง  แต่ตามหลักวิชาอาการชุดนั้นอาจจะเกิดขึ้นจากโรคเป็นสิบๆ อย่างที่แพทย์เคยทราบแต่จำไม่ได้ขณะนั้น ฉะนั้นคอมพิวเตอร์อาจจะช่วยเตือนความจำแพทย์และแนะนำว่าควรจะตรวจสอบหรือทดลองอะไรต่อไป จึงจะทราบว่าน่าจะเป็นโรคอะไร จากนั้นแพทย์ก็อาจจะใช้ข้อมูลอื่นๆ ที่คอมพิวเตอร์ไม่มี เช่นขณะนั้นมีโรคอะไรระบาดอยู่ และสงสัยว่าคนไข้จะเป็นโรคนั้น ก็สั่งให้ทำการทดลองเพื่อยืนยันว่าเป็นโรคนั้นหรือไม่
          โดยวิธีการเช่นนี้ แพทย์หนึ่งคนอาจจะควบคุมการตรวจวินิจฉัยคนไข้ได้หลายคน ในหลายสถานที่ในเวลาเดียวกัน
          เมื่อแพทย์ตกลงวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นโรคอะไรแล้วอาจจะสั่งยาหลายประเภท คอมพิวเตอร์จะช่วยตรวจข้อมูลของคนไข้ที่ได้เก็บเข้าคอมพิวเตอร์ไว้แล้วว่า คนไข้ผู้นั้นแพ้ยาอะไรหรือไม่ ถ้าแพ้ยาที่แพทย์สั่งก็อาจเสนอว่าให้ใช้ยาอะไรแทน ให้แพทย์เลือกใหม่ได้ หรือเมื่อสั่งยาไปแล้ววันรุ่งขึ้นคนไข้ติดต่อต่อมาว่าอาการไม่ทุเลา หรือมีอาการอะไรเพิ่มแพทย์อาจจะสั่งเปลี่ยนยาบางรายการ ในกรณีนี้คอมพิวเตอร์ก็อาจจะช่วยตรวจอีกว่า ยาใหม่นี้มีปฏิกิริยากับยาเก่าที่ยังไม่ได้สั่งให้เลิกหรือไม่ ถ้ามีก็อาจเสนอให้เปลี่ยนได้
          ในบางกรณี เมื่อตรวจขั้นต้นแล้ว แพทย์ยังวินิจฉัยไม่ได้ว่าคนไข้เป็นอะไร แพทย์อาจจะตรวจเพิ่มเติม  โดยขอให้ทดลองวัดผลเพิ่มเติมอีกมากมายหลายอย่าง เมื่อได้ข้อ
มูลมามากๆ แล้ว ในทางทฤษฎีแพทย์ก็ควรจะมีความมั่นใจมากขึ้นว่าคนไข้เป็นโรคอะไร แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่ามีแพทย์บางคนกลับงงเมื่อได้ข้อมูลมากเกินไป เพราะโดยหลักกว้างๆ แล้ว ถ้ามีข้อมูลมากขึ้น คอมพิวเตอร์ก็อาจจะใช้ข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์มากขึ้น   แต่สำหรับคนย่อมมีจุดจำกัดที่จะรับข้อมูลไปใช้ ฉะนั้นจึงควรใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในกรณีนี้ เมื่อได้ข้อมูลมามากๆ แล้ว คอมพิวเตอร์ก็อาจจะเสนอการตรวจสอบทดลองเพิ่มเติมเพื่อยืนยันแล้วเสนอเฉพาะผลการยืนยันนั้นให้แพทย์พิจารณา
          อีกโครงการหนึ่งที่เคยมีผู้ทำก็คือ ใช้คอมพิวเตอร์สัมภาษณ์คนไข้ ใช้โทรทัศน์และพิมพ์ดีดให้คนไข้พิมพ์โต้ตอบกับคอมพิวเตอร์ ปรากฏว่ามีประโยชน์ในบางกรณีเช่น คนไข้หญิงมักจะกล้าให้ข้อมูลส่วนตัวกับคอมพิวเตอร์มากกว่ากับแพทย์ชาย เป็นต้น



การใช้คอมพิวเตอร์ในการศึกษาและวิจัยด้านการแพทย์ 
          การสอนและการตรวจวินิจฉัยโรคอาจจะใช้คอมพิวเตอร์ช่วย โดยแสดงภาพคนไข้พร้อมอาการให้นักศึกษาถามคำถาม  สั่งตรวจทดลอง  คอมพิวเตอร์เสนอผลการทดลองให้ทราบ ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไร  ให้สั่งการรักษา และให้คอมพิวเตอร์ใช้เลขสุ่มเสนอผลการรักษา เป็นต้น
          ทางด้านการวิจัย  มีการใช้คอมพิวเตอร์มากมายหลายโครงการ เช่น ในเมืองไทยมีการวิจัยการแพ้ยา เป็นต้น
         ในต่างประเทศ มีการใช้คอมพิวเตอร์ทำแบบจำลองด้านการแพทย์ต่างๆ เช่น การระบาดของโรค การควบคุมการทดลอง การติดตามวัดผล และการรักษาคนไข้เป็นต้น มีการใช้หุ่นยนต์คอมพิวเตอร์ช่วยคนไข้ที่ตกใจอย่างกะทันหันจนพูดไม่ได้  ให้สามารถพูดได้อีกครั้งหนึ่ง มีการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยตรวจสมองว่าเป็นเนื้องอกหรือไม่ ถ้าเป็นก็ให้คอมพิวเตอร์ควบคุมการส่งรังสีเอกซ์ให้ไปรวมกันณ จุดเนื้อร้ายเพื่อเผาเนื้อร้ายนั้น มีการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการหาสูตรผสมยา  และตรวจสอบสูตรที่เสนอมาว่าเป็นสูตรใหม่นั้น ใหม่จริงหรือไม่ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น