การใช้คอมพิวเตอร์ด้านการแพทย์


การใช้คอมพิวเตอร์ในด้านการแพทย์และสาธารณสุข
          ในปัจจุบันนี้ คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกอย่างยิ่งในด้านการแพทย์ เริ่มตั้งแต่การรักษาพยาบาลทั่วๆ ไป โรงพยาบาลบางแห่งใช้คอมพิวเตอร์ในการทำทะเบียนคนไข้   ในด้านการบริหารการแพทย์อาจจะใช้คอมพิวเตอร์ในการวางแผนและควบคุมการปฏิบัติงานทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโรงพยาบาลในด้านการปฏิบัติงาน เครื่องมือการแพทย์ในปัจจุบันหลายอย่าง ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดต่างๆ เป็นส่วนประกอบสำหรับใช้ควบคุมการปฏิบัติงานของเครื่องเหล่านั้น เช่น เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และเครื่องปฏิบัติการทดลองต่างๆ เช่น ตรวจเลือด  ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น แม้ในด้านการวินิจฉัยโรค  ในต่างประเทศก็มีการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยบันทึกไว้ว่าอาการต่างๆ จะเกิดจากโรคอะไรได้บ้าง นอกจากนี้  ในการศึกษาและวิจัยทางการแพทย์ ก็สามารถใช้คอมพิวเตอร์ช่วยได้หลายด้าน ตัวอย่างที่สำคัญตัวอย่างหนึ่งคือ  ด้านการใช้หุ่นรถยนต์คอมพิวเตอร์แทนคนในการศึกษาอาการโรค และการตอบสนองวิธีการรักษา เช่น ในด้านโรคหัวใจแบบต่างๆ ถ้าสั่งว่าลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท ก็แสดงอาการของการที่ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท และถ้าฉีดยาให้ก็แสดงอาการตอบสนองให้นักศึกษาได้ศึกษาผลการฉีดยา เป็นต้น
          เนื่องจากในต่างประเทศได้มีการใช้คอมพิวเตอร์ในด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างได้ผลดียิ่ง และบ้านเราก็ถือว่าการแพทย์และสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นจะได้กล่าวถึงการใช้คอมพิวเตอร์ในด้านนี้อย่างละเอียด โดยแยกเป็น ๕ ด้าน  คือ  ด้านการรักษาพยาบาลทั่วไป ด้านการบริหารการแพทย์ ด้านห้องทดลอง ด้านตรวจวินิจฉัยโรคและด้านการศึกษาและวิจัยทางการแพทย์


การใช้คอมพิวเตอร์ในการรักษาพยาบาลทั่วไป 
          หมายถึง การติดตามรักษาพยาบาลประชาชนทั่วไปทุกโรคทุกระดับอายุ วัตถุประสงค์ที่สำคัญก็คือ เพื่อจะตรวจให้พบว่าคนไข้เป็นโรคอะไรหรือไม่ ถ้าเป็นก็ควรจะพบตั้งแต่เริ่มเป็น จะได้รักษาและติดตามการรักษาให้อาการทุเลาลงหรือหายขาดจากโรคนั้นๆ ได้ การรักษาพยาบาลทั่วไปนี้หมายรวมถึงการจัดมาตรการป้องกัน เช่น ปลูกฝี ฉีดยาป้องกันไม่ให้คนไข้เป็นโรคต่างๆ ที่มีทางป้องกันได้
          ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ประชาชนแต่ละคนจะต้องมีแพทย์ประจำตัว หรือแพทย์ประจำครอบครัว (family doctor) แม้จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วยอะไรเลย ประชาชนแต่ละคนก็ควรจะไปหาแพทย์อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง เพื่อให้ตรวจร่างกายทั่วไป เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องไปพบแพทย์ประจำตัวก่อนที่จะพบแพทย์คนอื่น แพทย์ประจำตัวจะต้องเป็นผู้ตรวจวินิจฉัยและสั่งการรักษาพยาบาล ฉะนั้นแพทย์ประจำตัวต้องเป็นผู้ที่รอบรู้เรื่องโรคทุกชนิด ทั้งอาการและการรักษา จะต้องรอบรู้เรื่องของคนไข้แต่ละคนและทุกคนว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร เคยเป็นโรคอะไรบ้าง เคยผ่าตัดหรือไม่   เคยแพ้ยาอะไรหรือไม่  แพทย์ประจำตัวจะต้องใช้ข้อมูลมากมายในการตัดสินใจ   แต่ความสามารถของคนธรรมดานั้นย่อมมีจำกัด ไม่สามารถจะจำข้อมูลนับหมื่นนับแสนรายการได้ ฉะนั้น จึงน่าจะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการจดจำและค้นหาข้อมูลเหล่านั้นงานต่างๆ ที่คอมพิวเตอร์อาจจะช่วยทำได้ในการรักษาพยาบาลทั่วไปดังกล่าวข้างต้น   อาจจะแบ่งได้ดังนี้
            ๑. งานทะเบียนและประวัติคนไข้
            ๒. งานปลูกฝีและฉีดวัคซีน
            ๓. งานทะเบียนการเป็นโรค
            ๔. งานข้อมูลเพื่อการปฏิบัติงาน


งานทะเบียนและประวัติคนไข้ 
          การทำงานนี้หากไม่ใช้คอมพิวเตอร์ มักจะใช้บัตรกระดาษบันทึกชื่อ  ที่อยู่อายุ และเลขประจำตัวของคนไข้แต่ละคน คนละบัตรนำเข้าแฟ้มเรียงกัน ในการนี้เมื่อคนไข้เก่ามาแจ้งว่าเป็นคนไข้เก่า ก็ต้องรอนานกว่าเจ้าหน้าที่จะหาบัตรพบ  จึงมักจะแจ้งเป็นคนไข้ใหม่ การทำบัตรใหม่ใช้เวลาน้อยกว่า ไม่ต้องรอนาน เพื่อขจัดปัญหาเกี่ยวกับบัตรดังกล่าวนี้ จึงได้มีการบันทึกข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์  และเรียกหาจากคอมพิวเตอร์โดยผ่านจอโทรทัศน์ ต่อจากนั้นอาจสั่งให้คอมพิวเตอร์จัดทำรายงานโดย
            ๑) เรียงตามเลขประจำตัวคนไข้
            ๒) เรียงตามตัวอักษรของชื่อ
            
๓) จัดกลุ่มตามอายุ เช่น ผู้หญิงอายุ ๓๕-๖๔ ปี สำหรับคนไข้ที่ควรจะตรวจภายในเป็นระยะๆ เป็นต้น
            ๔) จัดกลุ่มตามเขตของที่อยู่
            ๕) จัดกลุ่มตามปีที่เริ่มมาเป็นคนไข้ของโรงพยาบาล หรือสำนักแพทย์
            ๖) จัดกลุ่มตามเพศ  แต่งงานแล้วหรือโสด
          รายการที่คอมพิวเตอร์พิมพ์ออกมาให้ไว้ข้างบนนี้ อาจจะช่วยในการหาบัตรของคนไข้ได้ และช่วยในการทำสถิติต่างๆ
          ในระบบคอมพิวเตอร์นั้น  นายแพทย์แต่ละคนสามารถกดปุ่มบนแป้นพิมพ์ของเครื่องเหล่านี้  เพื่อดูประวัติรายละเอียดการตรวจรักษาพยาบาล  การแพ้ยา และการฉีดวัคซีนต่างๆ ของคนไข้คนหนึ่งคนใดได้ทันทีบนจอโทรทัศน์เพื่อประกอบการวิเคราะห์และวินิจฉัยโรคที่เป็นอยู่ในขณะนี้ได้ง่าย ถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจใช้เครื่องรับส่งข้อมูลแบบนี้ต่อเข้ากับเครื่องพิมพ์ขนาดเล็ก เพื่อพิมพ์ใบสั่งยา และใบกำกับสินค้าได้โดยสะดวกอีกด้วย


 
งานปลูกฝีและฉีดวัคซีน 
          การใช้คอมพิวเตอร์ในงานนี้จะช่วยให้ประชาชนได้รับการปลูกฝีฉีดวัคซีนป้องกันอย่างถูกต้องครบถ้วนมากขึ้น โดยการบันทึกทะเบียนการเกิดของเด็กทุกคนที่เกิดในเขตต่างๆ และปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอด้วยการเปลี่ยนแปลงรายการอันเนื่องมาจากการตาย การย้ายที่อยู่ เป็นต้น ต่อจากนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเขตสามารถใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์รายงานให้ทุกเดือนว่ามีเด็กอายุครบกำหนดจะต้องปลูกฝี ฉีดวัคซีนชนิดใดในแต่ละเดือน พร้อมทั้งพิมพ์ใบเตือนเพื่อส่งไปให้ถึงบ้าน  ในใบเตือนนั้นอาจจะระบุด้วยว่าให้ผู้ปกครองนำเด็กไปปลูกฝี  ฉีดวัคซีนที่ใด วันเวลาใด พร้อมกันนั้นคอมพิวเตอร์ก็จะพิมพ์รายการนัด (appointment list) ส่งไปให้แพทย์หรือพยาบาลผู้มีหน้าที่ฉีดยาปลูกฝีว่าคอมพิวเตอร์ได้นัดบุคคลใดให้มาพบเมื่อใด เพื่อรับบริการอะไร เมื่อเด็กมาพบและรับบริการแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ส่งรายการกลับไปให้คอมพิวเตอร์บันทึกไว้ สำหรับเด็กที่ไม่มาพบตามนัด  คอมพิวเตอร์ก็จะจัดพิมพ์ใบเตือน  ๓-๔ ครั้ง ถ้ายังไม่มาพบอีก ก็อาจส่งรายการให้เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ เพื่อดำเนินการต่อไป


งานทะเบียนการเป็นโรค 
          แพทย์แต่ละคนอาจจะตรวจรักษาคนไข้ในแต่ละเดือนนับเป็นพันๆ ราย แต่ละรายมีข้อมูลให้บันทึกหลายรายการ เช่น มีอาการอย่างไร เป็นมานานเท่าใด ผลการตรวจเป็นอย่างไร ผลการทดลองเป็นอย่างไร   ให้ยาอะไร   และได้ผลอย่างไร   เป็นต้น   ในอังกฤษได้มีโครงการเก็บข้อมูลเหล่านี้  โดยให้คอมพิวเตอร์พิมพ์เลขประจำตัวคนไข้ วันที่คนไข้นัดจะมาพบ และแพทย์ขีดเลือกคำตอบในแบบฟอร์มสำหรับแพทย์ หรือพยาบาลทำเครื่องหมายบ่งผลการตรวจวินิจฉัยโรคและวิธีการรักษา โดยใช้เวลากรอกแบบฟอร์มประมาณ ๑๐ วินาทีต่อคนไข้หนึ่งคนนำแบบฟอร์มนี้ส่งเข้าคอมพิวเตอร์พิมพ์รายงานต่างๆ ซึ่งได้แก่
          รายงานแยกประเภทตามชนิดของโรค เช่น ไข้หวัดไข้หวัดใหญ่ กามโรค ฯลฯ ว่าเขตใดมีคนไข้เป็นโรคอะไร
มาก  และตรงกับระยะเวลาใดของปี เช่น ในหน้าฝนมีคนเป็นไข้หวัดกันมาก เป็นต้น
          รายงานความถี่ของการพบแพทย์ เพื่อจะได้ทราบว่ามีคนไข้กลุ่มใดพบแพทย์มากเป็นพิเศษหรือไม่ ในบางแห่งที่รัฐจัดบริการรักษาพยาบาลโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  ปรากฏว่ามีคนไข้วัยชราชอบมาพบแพทย์เพราะเหงาไม่มีใครจะคุยด้วยจากสถิติแห่งหนึ่งในบรรดาคนไข้ประมาณ  ๕๐๐ ราย พบแพทย์รวมทั้งสิ้นประมาณ ๑,๐๐๐ ครั้งในเดือนนั้น ปรากฏว่าเป็นการพบของคนไข้เพียง ๗๒ คน เป็นจำนวน ๒๑๐ ครั้ง
ฉะนั้นจากข้อมูลนี้ ถ้าเราทราบว่าคนไข้จำนวนมากในบรรดา๗๒ คนนี้ ย้ายบ้านหรือตายไป งานของแพทย์คนนี้ก็จะลดลงมาก
          
รายงานเมื่อเกิดโรคระบาด เพื่อจะได้ทราบว่าควรจะเรียกคนไข้กลุ่มใดมาฉีดยาป้องกันหรือไม่ เช่น เมื่อโรคหัดเยอรมันระบาด ก็ให้คอมพิวเตอร์พิมพ์ใบเตือนส่งไปให้สตรีมีครรภ์ทุกคนมาตรวจ และหรือฉีดวัคซีนป้องกัน เป็นต้น
          รายงานว่าคนไข้กลุ่มใดได้รับการปลูกฝี ฉีดวัคซีนและตรวจร่างกายทั่วไปล่าช้าเกินไป ต้องเตือนให้มาพบแพทย์


งานข้อมูลเพื่อการปฏิบัติงาน 
          ในการจัดเวลาปฏิบัติงานของโรงพยาบาลและคลินิกบางแห่ง บางวันอาจมีปัญหาที่แพทย์บางคนมีคนไข้มากจนไม่มีเวลาให้กับคนไข้แต่ละคนมากเท่าที่คนไข้ต้องการ  และบางวันแพทย์บางคนก็ไม่มีคนไข้การนำข้อมูลต่างๆ เช่น ทะเบียนคนไข้ ทะเบียนอาการเป็นโรค  สถิติต่างๆ  และรายการนัดพบแพทย์ เป็นต้น ส่งเข้าคอมพิวเตอร์  เพื่อให้ช่วยจัดรายการล่วงหน้าว่าวันใดแพทย์คนไหนควรจะมาพบคนไข้จากเวลาเท่าใดถึงเท่าใด ถ้าแพทย์คนใดจะหยุดพักผ่อนประจำปี ก็ให้คอมพิวเตอร์เสนอแนะว่าจะให้แพทย์คนใดดูแลคนไข้คนใดแทน หรือให้เลื่อนนัดคนไข้ที่ไม่เร่งด่วนอย่างไร คลินิกแห่งนี้ควรจะมีแพทย์ด้านใดเพิ่มขึ้นหรือไม่ ในทางตรงกันข้ามก็อาจจะพิจารณาว่าควรจะลดแพทย์ด้านใดลงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม รายงานของคอมพิวเตอร์นี้ก็เป็นเพียงข้อเสนอแนะ  การปฏิบัติตามหรือไม่อย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับผู้บริหาร ซึ่งอาจต้องพิจารณาความเหมาะสมด้านอื่นๆ ด้วย

4 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากครับผมขออนุญาตนำขอมูลบางส่วนมาทำรายงานนะครับเป็นความรู้มากครับ

    ตอบลบ
  2. ขอขอบคุณมากๆน่ะค่ะ ขออนุญาตนำข้อมูลบางส่วนมาทำรายงานน่ะค่ะ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณมากที่ให้รู้แต๊งกิ๊วคราบบบ

    ตอบลบ